ramdom07.jpg

คุณสมบัติของผู้นำนมัสการ

มาตรฐานและความคาดหวังในตัวผู้นำนมัสการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคริสตจักร  ในบางคริสตจักร ทีมงานด้านการอภิบาลจะต้องนำนมัสการเป็น  แต่ในบางคริสตจักร เฉพาะผู้อาวุโสหรือเป็นสมาชิกของคณะกรรมการบริหารคริสตจักรเท่านั้นที่จะสามารถทำหน้าที่นี้ได้   ถ้าจะว่าไปแล้ว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวผู้นำนมัสการเองมีผลอย่างมากกับความสำเร็จของการนมัสการในแต่ละครั้ง

ดังนั้น เราน่าจะมาพิจารณาดูว่าผู้นำนมัสการควรจะมีคุณสมบัติเช่นไรในการก้าวเข้ามาสู่ความรับผิดชอบที่สำคัญเช่นนี้

คุณสมบัติของผู้นำนมัสการที่ใช้เป็นแนวทางการเลือกผู้นำนมัสการหรือใช้พัฒนาชีวิตสำหรับผู้ที่เป็นผู้นำนมัสการอยู่แล้ว มี 9 ประการดังนี้

1. ผู้นำนมัสการ จะต้องเป็นนักนมัสการ 

คุณสมบัติข้อนี้มาก่อนข้ออื่นๆ เลย เพราะคนที่ไม่ใช่นักนมัสการจริงๆ ก็คงจะมาแสร้งนำนมัสการให้กับผู้อื่นไม่ได้นานแน่นอน  นี่คือเหตุผลที่ว่าเราจะเอาผู้เชื่อใหม่ที่เชื่อพระเจ้าได้ไม่นานขึ้นมานำนมัสการ เพื่อเป็นการเอาใจเขา หรือเพราะว่า เขาเป็นนักร้องที่ร้องเพลงเก่ง ก็ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมเลย  ไม่ได้หมายความว่าผู้เชื่อใหม่เป็นนักนมัสการที่ไม่ดี  แต่เขาอาจยังมีเวลาไม่มากพอที่จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ดีพอ

บางทีเราก็อาจมองว่าการให้เขาได้มีโอกาสนำนมัสการจะทำให้คนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น  จุดนี้ทำให้เรามองข้ามความสำคัญพื้นฐานของการเป็นนักนมัสการในตัวคนๆ นั้น   บางคนได้เป็นผู้นำนมัสการ เพราะว่าเขามีร้องเพลงดี มีเสียงร้องเพราะ รู้เรื่องดนตรีดี บางคนชอบร้องเพลง  หรือแม้แต่บางคนเพียงแค่ชอบนมัสการ   แต่การที่เราชอบนมัสการกับการเป็นนักนมัสการนั้นมันเป็นคนละเรื่องกัน

นักนมัสการ คือ ผู้ที่ได้เรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วยการยอมนบนอบต่อการครอบครองของพระคริสต์ โดยยอมละทิ้งตัวตน อารมณ์ความรู้สึก หรือสถานการณ์ต่างๆ ของชีวิตออกไป  ในลักษณะเดียวกันนี้ ผู้นำนมัสการก็ยิ่งต้องสำแดงคุณสมบัตินี้ในจิตใจและในชีวิตด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากแค่เรื่องดนตรีหรือการร้องเพลง ซึ่งเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นเองของการเป็นนักนมัสการ

2. มีชีวิตผูกพันตัวและเติบโตในฝ่ายวิญญาณ

เราคงนึกภาพไม่ออก ถ้าผู้นำนมัสการเป็นเพียงผู้เชื่อใหม่ที่ยังเติบโตไม่มากพอ ซึ่งยังขาดความใจในความลึกซึ้งของการนมัสการและการนำบรรยากาศที่มีการเคลื่อนไหวฝ่ายวิญญาณ   คุณสมบัติข้อนี้สัมพันธ์กับข้อที่ 1 อย่างมาก  ระดับในการเติบโตฝ่ายวิญญาณที่สามารถขึ้นมารับใช้ในการเป็นผู้นำนมัสการได้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของศิษยาภิบาลถึงความเหมาะสม ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละคริสตจักร

3. คุ้นเคยกับแบบแผนการนมัสการของคริสตจักร

ผู้นำนมัสการควรจะคุ้นเคยกับแบบแผนหรือสไตล์การนมัสการในคริสตจักรของตนเป็นอย่างดี  เพราะแต่ละคริสตจักรก็จะมีแนวสไตล์การนมัสการที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเคลื่อนไปข้างหน้าระหว่างการนมัสการ  ดังนั้น ผู้นำนมัสการที่เพิ่งเข้ามาในคริสตจักรใหม่ๆ จะต้องใช้เวลาปรับตัวทำความคุ้นเคยกับแบบแผนหรือสไตล์การนมัสการและบทเพลงต่างๆ ให้ดีก่อนที่จะเข้าไปมีส่วนนำที่ประชุม

4. มีความรู้ความเข้าใจเรื่องดนตรีดีพอ

แต่ละคริสตจักรคงต้องไปกำหนดกันเองว่า “ดีพอ” คือดีในระดับไหน    ผู้นำนมัสการที่ร้องเพลงได้ไม่ตรงคีย์ หรือไม่ตรงจังหวะก็คงจะรับใช้ในตำแหน่งนี้ได้ลำบากมาก  และอาจจะเหมาะที่รับใช้ในหน้าที่อื่นได้ดีกว่า  ผู้นำนมัสการควรจะมีความรู้ความสามารถด้านดนตรีด้วย เนื่องจากเขาต้องนำกลุ่มนักร้องนักดนตรีที่จะร่วมรับใช้ด้วยกัน ให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน และสร้างความยอมรับเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นทีมงานเดียวกัน

5. มีชื่อเสียงที่ดี

ไม่ใช่ว่าผู้นำนมัสการจะได้รับการยอมรับนับถือจากสมาชิก เพียงเพราะว่าเขายืนรับใช้บนเวทีในการนำนมัสการ  แต่เพราะเขาได้มีชื่อเสียงที่ดีสำหรับชีวิตด้านล่างเวทีด้วย ในการเดินกับพระเจ้า ในการสามัคคีธรรมกับพี่น้อง และในการมีชีวิตครอบครัวที่ดีงาม

6. ทำงานร่วมกันเป็นทีมงาน

ผู้นำนมัสการจะต้องสามารถทำงานเป็นส่วนหนึ่งกับทีมงานของเขาได้เป็นอย่างดี  ผู้นำนมัสการบางคนมีความเป็นส่วนตัวสูงมากจนไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี  และผู้นำนมัสการจะต้องยืดหยุ่นได้ดีเพื่อที่จะเคลื่อนไปกับศิษยาภิบาล และทีมผู้นำท่านอื่นในการรับใช้ร่วมกันในคริสตจักรอีกด้วย

7. มีทัศนคติที่ถูกต้องกับคริสตจักร

ผู้นำนมัสการจะต้องมีทัศนคติที่ดีกับคริสตจักรของตน กับศิษยาภิบาล และหลักข้อเชื่อของคริสตจักร  หากผู้นำท่านนั้นมีความคิดขัดแย้ง หรือทัศนคติแง่ลบต่อศิษยาภิบาล หรือมีข้อคิดแตกต่างทางหลักข้อเชื่อเก็บซ่อนอยู่ในใจ  ผู้นำท่านนี้ก็คงจะอยู่กับคริสตจักรที่นี่ไม่ได้นาน  และสมาชิกทั้งหลายก็คงได้รับผลกระทบอันน่าเจ็บปวดเมื่อเห็นผู้นำที่เขาพบอยู่บนเวทีเป็นประจำต้องเดินจากคริสตจักรไปในวันหนึ่ง

8. เต็มใจในหน้าที่นี้

ผู้นำนมัสการจะต้องเต็มใจที่จะรับผิดชอบในหน้าที่การนำนมัสการที่ได้รับมอบหมายมานี้ ซึ่งบางครั้งอาจต้องสูญเสียโอกาสในการเดินทางไปในที่ต่างๆ เช่น เยี่ยมเยียนคริสตจักรอื่นๆ หรือเข้าร่วมงานสัมนาพิเศษในที่ต่างๆ   นักเทศนา นักประกาศที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่มักจะถูกเชิญไปตามสถานที่ต่างๆ แต่ผู้นำนมัสการมักจะอยู่กับคริสตจักรของตนเพื่อปรนนิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด  เช่นเดียวกันกับศิษยาภิบาลที่มักจะอยู่ประจำคริสตจักร เว้นแต่เหตุเจ็บป่วยหรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ

9. กระตือรือร้น และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

ผู้นำนมัสการควรจะเป็นคนที่กระตือรือร้น ร้อนรน เป็นกันเอง เข้ากันได้เป็นอย่างดีกับผู้อื่น    ถ้าหากผู้นำนมัสการไม่ใช่คนกระตือรือร้นในการนำ ก็คงจะยากที่จะให้คนอื่นๆ ตอบสนองในระดับความกระตือรือร้นเดียวกันได้   ในลักษณะเดียวกัน ถ้าหากผู้นำนมัสการไม่เป็นกันเอง หรือไม่เด่นเรื่องมนุษยสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เขาก็อาจมีปัญหาในเรื่องการถูกยอมรับในบทบาทผู้นำนมัสการและการรับใช้บนเวทีในระยะยาว

คุณสมบัติเหล่านี้เป็นแนวทางโดยสังเขป ไม่ใช่เป็นกฎหลักเกณฑ์ตายตัวที่ทำให้คนรู้สึกว่าการเป็น “ผู้นำนมัสการ” ช่างแสนยากลำบาก  แต่อย่างน้อย เราก็ควรต้องมีการกำหนดคุณสมบัติให้กับบทบาทการรับใช้นี้  ซึ่งในแต่ละคริสตจักรอาจมีกำหนดคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม  ดังนั้น ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นผู้นำนมัสการที่ดีควรจะมองว่าคุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งท้าทายและน่าตื่นเต้นที่เขาจะพัฒนาและเติบโตเพื่อไปให้ถึงในที่สุด